ขนมไทยมีหลากหลายชนิดไม่แพ้ชาติอื่นๆ เฉพาะแป้งที่เป็นส่วนผสมหลักในการปรุงก็กินขาดชาติไหนๆ เพราะเรามีแป้งต่างๆมากมายที่ช่วยทำให้เนื้อขนมในแต่ละชนิดมีลักษณะและรสชาติที่ไม่เหมือนกัน
แป้งข้าวเจ้า เมื่อเนื้อแป้งสุกจะมีสีขาวขุ่น ไม่ถึงกับเหนียวหนึบและไม่ถึงกับร่วนฟูเป็นเนื้อทราย มีกลิ่นหอมของข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ เหมาะสำหรับทำขนมตาล ขนมถ้วยฟู ขนมขี้หนู หรือขนมทราย
แป้งข้าวเหนียว ชื่อก็บอกถึงคุณสมบัติว่าแป้งเมื่อสุกต้องมีความเหนียวเคี้ยวหนึบ จะมีสีขาวขุ่นเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน สังเกตได้จากขนมถั่วแปป ขนมเหนียว ขนมบัวลอย และขนมบ้าบิ่น
แป้งมันสัมปะหลัง เมื่อถูกนำมาปรุงให้สุกแป้งจะมีลักษณะข้นเหนียวเนื้อค่อนข้างใส ส่วนใหญ่มักใช้ผสมร่วมกับแป้งอื่นเพื่อให้เนื้อแป้งเกิดความเหนียวใสและดูขึ้นเงา เช่น ขนมปลากริมไข่เต่า หรือขนมด้วง หรือผสมแป้งนี้ร่วมกับแป้งข้าวเหนียว นอกจากนี้ในขนมเต้าส่วนก็มีการละลายแป้งมันกับน้ำใส่ลงไปด้วยเช่นกัน เพื่อทำให้น้ำเต้าส่วนมีความข้นหนืด
แป้งสาลี เนื้อแป้งมีความเบานุ่ม ทำให้ขึ้นฟูได้มาก จึงเหมาะสำหรับทำขนมปุยฝ้าย ขนมสาลี่หรือขนมอบกรอบแบบไทย เช่น ขนมหน้านวลและขนมกลีบลำดวน
แป้งเท้ายายม่อม เป็นแป้งที่ช่วยทำให้ขนมนุ่ม ใส ดูเงางาม มักใช้ผสมกับแป้งชนิดอื่นๆ เช่น ผสมกับแป้งมันและแป้งข้าวเจ้าในขนมชั้น ใช้ผสมกับแป้งข้าวเจ้าในขนมเปียกปูนหรือขนมน้ำดอกไม้
แป้งถั่วเขียว แป้งนี้เมื่อถูกปรุงให้สุกจะมีลักษณะเด่นที่ความใสเงางามเหมือนวุ้น แต่เหนียวเด้ง นิยมนำมาทำเป็นเส้นๆ ฝอยๆ แบบเส้นหมี่ นำมาทำเป็นขนมซาหริ่ม หรือขนมเรไรได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น